นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์เฟซบุ๊ก “เทพไท – คุยการเมือง” ว่า กมธ.งบประมาณ แหล่งหาประโยชน์ ของนักตบทรัพย์
ผมเห็นรายชื่ออาจารย์วีระ ธีระภัทรานนท์ เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ในโควตาของพรรคก้าวไกลแล้ว รู้สึกแปลกใจ ไม่คิดว่าอาจารย์วีระ จะถูกเสนอชื่อโดยพรรคก้าวไกล เพราะเป็นนักวิชาการและสื่อมวลชนอิสระ ที่มีความรอบรู้ในเรื่องเศรษฐกิจ การเมืองและสังคมเป็นอย่างดีคนหนึ่ง
แต่เมื่อพรรคก้าวไกล ยอมตัดโควตาของพรรคให้อาจารย์วีระ ในฐานะคนนอกได้เข้ามาเป็นกรรมาธิการวิสามัญแทน เป็นเรื่องที่สังคมตั้งความคาดหวังไว้มาก และต้องขอขอบคุณพรรคก้าวไกล ที่มีใจกว้าง และสร้างวัฒนธรรมใหม่ ให้คนที่ไม่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องใดๆ กับงบประมาณของรัฐ แต่มีความรู้ความสามารถได้เข้ามาจัดสรรงบประมาณ ให้เป็นไปด้วยความเป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ
เพราะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีทุกยุคทุกสมัย จะมีคนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นคนหน้าเดิมๆ ผูกขาดเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณ เรียกตามประสาชาวบ้านว่า เข้าไปทำมาหากิน ตบทรัพย์ ล็อบบี้ วิ่งเต้นโครงการ หางบประมาณ สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มีการแลกเปลี่ยนโครงการ ซื้อขายโครงการ หาโครงการไปลงในพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นตัวแทนผู้รับเหมา เข้าไปปกป้องผลประโยชน์และผลักดันโครงการต่างๆ ที่บริษัทผู้รับเหมาหมายตาเอาไว้ ฯลฯ
ผมเคยเป็น สส. มาร่วม 20 ปี แต่ไม่เคยเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปีเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะรู้ว่าไม่มีความสามารถเพียงพอ และไม่อยากจะเข้าไปเกลือกกลั้ว กับผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นในกรรมาธิการ และไม่มีความรู้ความสามารถเพียงพอในเรื่องธุรกิจไม่รู้จักกับผู้รับเหมา หรือไม่นิยมหาประโยชน์กับโครงการต่างๆ
เมื่ออาจารย์วีระ เข้าไปเพียงคนเดียว อาจจะทำอะไรได้ไม่มาก เพราะน้ำน้อยย่อมแพ้ไฟ หรือน้ำสะอาดเพียงหยดเดียวไม่สามารถทำให้น้ำทั้งลำคลองสะอาดขึ้นมาได้ แต่ถ้าอยากให้การทำงานของอาจารย์วีระ มีประสิทธิภาพมาก ก็ต้องเปิดโอกาสให้อาจารย์วีระ เข้าไปเป็นรองประธานกรรมาธิการ และเป็นประธานอนุกรรมาธิการชุดใดชุดหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ความรู้ความสามารถว่า คนอย่างอาจารย์วีระ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกไม่มีผลประโยชน์อะไรแอบแฝง สามารถทำงานในอนุกรรมาธิการชุดนั้นๆ โปร่งใส รักษาผลประโยชน์ของประชาชนได้หรือไม่
ขอให้สังคมและสื่อมวลชน ได้จับตาการทำงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญชุดนี้อย่างใกล้ชิด ว่ามีการหาประโยชน์หรือเอื้อประโยชน์ เหมือนกับการพิจารณางบประมาณในปีก่อนๆ หรือไม่