หมอเตือน! โรคลมหลับง่วงนอนมากผิดปกติ รักษาไม่ได้ต้องกินยากระตุ้นให้ตื่น

ja(8)

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ถึงเคสของผู้ป่วยหญิงวัย 22 ปี หลังมีอาการง่วงนอนมากผิดปกติ ซึ่งเข้ารับการตรวจพบเป็นโรคลมหลับ โดยระบุข้อความว่า

ผู้ป่วยหญิงอายุ 22 ปี เริ่มง่วงนอนมากผิดปกติตั้งแต่อายุ 10 ขวบ ทั้งที่ไม่ได้อดนอน โดยนอนวันละ 8 ชั่วโมง แต่กลางวันง่วงมาก ต้องเผลอหลับทุกวัน บางครั้งมีหูแว่วและเห็นภาพหลอนขณะกำลังจะตื่น เวลามีอารมณ์ เช่น หัวเราะ นานครั้งจะมีกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง ไม่นอนกรน ไม่มียาประจำ ไม่ขับรถ และความดัน 100/70 ตรวจร่างกายทุกอย่างปกติ

เข้ารับการตรวจการนอนหลับในห้องปฏิบัติการการนอนหลับ ใช้เวลา 4 นาทีหลับได้ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน REM sleep ในเวลาเพียง 1 นาที (หลังจากเริ่มหลับคนปกติคลื่นสมองจะเปลี่ยนเป็นหลับฝันต้องใช้เวลาประมาณ 90 นาที) ไม่พบภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

หลังจากหลับเต็มที่แล้ว เช้าวันรุ่งขึ้นทำการตรวจการนอนหลับตอนกลางวันเป็นช่วงๆในห้องปฏิบัติการ Multiple Sleep Latency Test (MSLT) โดยให้ผู้ป่วยพยายามงีบหลับทุก 2 ชั่วโมง 5 รอบตั้งแต่เช้าถึงบ่าย ถ้าหลับจะอนุญาตให้งีบหลับได้เพียง 15 นาทีแล้วถูกปลุกให้ตื่น

ขณะงีบหลับมีการตรวจคลื่นสมอง คลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ และการกลอกตา ผู้ป่วยหลับง่ายได้ทั้ง 5 รอบใช้เวลาไม่ถึง 2 นาทีจากดับไฟจนกระทั่งเริ่มหลับ และคลื่นสมองเปลี่ยนเป็นหลับฝัน REM sleep ทั้ง 5 รอบในเวลา 1-8 นาที ซึ่งถือว่าผิดปกติเข้าได้กับโรคลมหลับ
วินิจฉัย : โรคลมหลับ (Narcolepsy)

เลือกให้ยา Nuvigil (Armodafinil) 150 มิลลิกรัมตอนเช้าวันละ 1 ครั้ง เพราะอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงเวลามีอารมณ์เช่นหัวเราะ เกิดขึ้นไม่บ่อยและไม่รุนแรง หลังกินยาผู้ป่วยไม่ง่วง มาง่วงอีกครั้งตอน 5 โมงเย็นหลังยาหมดฤทธิ์

โรคลมหลับไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ มียาหลายชนิดช่วยบรรเทาอาการของโรคได้ ยากระตุ้นให้ตื่นเช่น Armodafinil มีฤทธิ์กระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคลมหลับ ตื่นในเวลากลางวันหลังกินยาตอนเช้าทุกวัน อาการง่วงนอนดีขึ้น ไม่หลับง่ายเหมือนแต่ก่อน คนที่เป็นโรคลมหลับ ห้ามขับขี่ถ้ายังไม่ได้รับการรักษา เพราะอาจหลับขณะขับเป็นอันตรายต่อทั้งคนขับและผู้ใช้รถใช้ถนนร่วมกัน

 

แท็ก