NCDs คร่าชีวิตคนไทยถึง 75% ซ้ำแนวโน้มเบาหวาน-ความดันเพิ่มปีละ 5%

champion-2

ที่อาคารมิตรทาวน์ ออฟฟิศ ทาวเวอร์ กรุงเทพฯ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเปิดการประชุมสร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ “องค์กรยุคใหม่ ใส่ใจสุขภาวะ” (Future of Work on Wellbeing) ครั้งที่ 1 ปี 2567 ว่า โรคไม่ติดต่อ (NCDs) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 คิดเป็น 75% ของสาเหตุการเสียชีวิตทั้งหมด หรือเกือบ 4 แสนคนต่อปี ครึ่งหนึ่งเป็นการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจของไทยถึง 1.6 ล้านล้านบาทต่อปี สสส. เห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น ได้สานพลัง ภาคีเครือข่าย พัฒนานวัตกรรมแนวคิดองค์กรแห่งความสุข (Happy Workplace) ป้องกันการเกิดโรค NCDs โดยเฉพาะในกลุ่มวัยแรงงานที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทำลายสุขภาพสูงสุด สามารถเสริมสร้างศักยภาพองค์กรแห่งความสุขที่ตระหนักต่อการสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กรกว่า 10,000 แห่ง

“การประชุมครั้งนี้ สสส. ได้ออกแบบกระบวนการเชิงปฏิบัติการให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเกิดโรค NCDs ในวัยทำงานเพื่อส่งเสริมการมีวิถีชีวิตสุขภาวะทั้ง 4 มิติ ครอบคลุมมิติทางสุขภาพ 7 ประเด็นสำคัญ โดยพัฒนานวัตกรรมชุดความรู้ “Healthy Lifestyle Package” 3 ชุด 1.Package 1 ประเด็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาสูบ และความปลอดภัยทางถนน 2.Package 2 ประเด็นกิจกรรมทางกาย อาหารสุขภาวะ และการจัดการขยะ 3.Package 3 ประเด็นสุขภาพจิต มีหน่วยงานเข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ 80 แห่ง มุ่งเป้าให้เกิดเป็นต้นแบบองค์กรสุขภาวะที่มีการส่งเสริม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาการเกิดโรค NCDs นำไปสู่การขยายผลเป็นต้นแบบองค์กรสุขภาวะ ภายในปี 2567” นพ.พงศ์เทพ กล่าว

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า โรค NCDs ส่วนหนึ่งมาจากพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมที่ต้องใช้เวลา 10-20 ปี จึงจะปรากฏอาการ แต่ในกลุ่มวัยแรงงานมีสาเหตุหลักๆ จากการมีพฤติกรรมเสี่ยงที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น บริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักตามโภชนาการ มีกิจกรรมทางกายที่ไม่เพียงพอ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ ความเครียด โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข คาดการณ์ว่า แนวโน้มอัตราป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะเบาหวานและความดันโลหิตสูงเพิ่ม 5% ต่อประชากรแสนคนทุกปี การประชุมครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการยกระดับเครือข่ายองค์กรสุขภาวะ ที่ใช้สร้างเสริมสุขภาวะแบบองค์รวมในองค์กรยุคใหม่ รวมถึงแนวทางการออกแบบกิจกรรมที่องค์กรสามารถปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของบุคลากร

“กระบวนการสำคัญที่สร้างความยั่งยืนคือ การเป็นพี่เลี้ยง ให้คำปรึกษาออกแบบกิจกรรม และกระบวนสร้างเสริมสุขภาวะในองค์กร สสส. ร่วมกับ วิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร มุ่งเน้นออกแบบกิจกรรมตามบริบทของแต่ละองค์กร เช่น จัดประชุม Healthy Meeting กิจกรรมเพิ่มก้าวเดิน โรงอาหารสุขภาพ งดเหล้า เลิกบุหรี่ นอกจากช่วยลดอัตราการเสียชีวิตจากโรค NCDs ในระยะยาว ยังถือเป็นการลดความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจประเทศอีกด้วย” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว

 

แท็ก