เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 ณ เมืองอองโตนี ประเทศฝรั่งเศส คณะก้าวหน้าร่วมกับกลุ่มคนไทยในฝรั่งเศส ร่วมจัดงานปิคนิกในสวน ก่อนการแถลงข่าวเปิดตัวบ้านของรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ ในวันนี้ (18 พ.ค.)
ในงานดังกล่าว มีไฮไลท์สำคัญคือการพูดคุยกับน.ส.สุดา และนางดุษฎี พนมยงค์ เกี่ยวกับชีวิตและความทรงจำในบ้านอองโตนี โดย น.ส.พรรณิการ์ วานิช กรรมการบริหารคณะก้าวหน้า ซึ่งเป็นผู้นำการสนทนา ตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งแรกที่ตนสังเกตเห็นเกี่ยวกับบ้านหลังนี้คือ แม้ภายนอกจะดูใหญ่ และในรูปภาพก็ดูเป็นบ้านที่กว้างขวาง แต่เมื่อได้เข้ามาอยู่ในบ้านจริงๆ บ้านหลังนี้เล็กมาก และทำให้ตนอดคิดย้อนกลับไปไม่ได้ว่า นี่คือที่พำนักสุดท้ายของรัฐบุรุษผู้ก่อเกิดประชาธิปไตยจริงๆ หรือ และในวันนี้ได้เข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงบทกลอนที่ว่า “แต่คนดีเมืองไทยไม่ต้องการ”
น.ส.สุดา และนางดุษฎี พนมยงค์ ได้เล่าว่าหลักคิดของครอบครัวตั้งแต่สมัยคุณตา มาจนถึงคุณพ่อ ก็คือ ให้อยู่อย่างจน ถึงจะรวย และคิดถึงคนที่เขาลำบากกว่าเสมอ และการใช้ชีวิตในบ้านหลังนี้ก็ทำแบบนั้น ทุกคนอยู่อย่างสุขสบาย แต่ไม่ได้ฟุ้งเฟ้อ นายปรีดีเองก็ใช้รถสาธารณะเป็นประจำ และทุกคนในบ้านต้องทำงาน ทั้งงานบ้าน และงานเสริมเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว เช่นครูสุดา แม้จะทำงานสอนเปียโน แต่ก็ยังมีอาชีพเสริมคือการทำอาหารส่งตามบ้านด้วย
นางดุษฎียังเล่าถึงข้อครหาที่คนจำนวนมากกล่าวหาว่านายปรีดีเอาเงินแผ่นดินมาซื้อบ้านหลังนี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่มีมูลแม้แต่น้อย เพราะถึงแม้นายปรีดีจะไม่มีเงินทองมากมาย แต่ท่านผู้หญิงพูนศุข ภริยา เป็นบุตรของพระยาชัยวิชิตฯ อธิบดีราชทัณฑ์คนแรกของไทย และเป็นข้าราชบริพารใกล้ชิดของรัชกาลที่ 6 จึงมีทรัพย์สินมรดกอยู่บ้าง เมื่อจะซื้อบ้านหลังนี้ ท่านผู้หญิงได้ขายที่ดินที่ได้รับมรดกมา เพื่อรวบรวมเงินมาซื้อบ้านที่อองโตนี ซึ่งตอนนั้นไม่ได้ราคาแพง เพราะอยู่ชานเมือง เพราะฉะนั้นบ้านนี้จึงไม่ใช่การเบียดบังเงินแผ่นดินหรือภาษีประชาชนอย่างแน่นอน
ด้านนายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ปัจจุบันลี้ภัยอยู่ที่ฝรั่งเศส กล่าวว่า เหตุที่บ้านหลังนี้มีความสำคัญสำหรับตนมาก ไม่ใช่เพียงเพราะนี่เป็นบ้านของนายปรีดี แต่เพราะที่นี่เป็นศูนย์รวมคนไทยที่อยู่ในยุโรป เป็นที่ของการพบปะแลกเปลี่ยนความคิดความรู้ อันจะก่อเกิดความเปลี่ยนแปลงความก้าวหน้าในอนาคต หากนายธนาธรซื้อบ้านมา แต่ไม่มีใครมาใช้ มาจัดกิจกรรมเหมือนในอดีต บ้านอองโตนีแห่งนี้ก็จะไม่มีความหมาย ไม่ต่างอะไรกับบ้านธรรมดาหลังหนึ่ง
ทั้งนี้ งานปิคนิกในสวนบ้านอองโตนีดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมงานนับร้อยคน จากหลายประเทศทั่วยุโรป ไฮไลท์ของงาน นอกจากการสนทนากับบุตรสาวของนายปรีดี ยังมีการขับร้องเพลง “คนดีมีค่า” ซึ่วเป็นบทเพลงที่ประพันธ์ขึ้นในโอกาส 100 ปีชาตกาลของนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนอาหารที่ใช้จัดเลี้ยงในงาน เป็น “ข้าวต้มกุ๊ย” อาหารที่นายปรีดี ชอบรับประทานเป็นประจำในขณะที่พำนักในบ้านหลังนี้