ดร.นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า การติดเชื้อมัยโคแบคทีเรียกลุ่มที่ไม่ได้ก่อให้เกิดวัณโรค (Nontuberculous Mycobacteria – NTM) กำลังเป็นประเด็นปัญหาสุขภาพในกลุ่มประเทศสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และญี่ปุ่น เนื่องจากมีอุบัติการณ์ของเชื้อเพิ่มสูงขึ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื้อนี้สามารถพบได้ในสิ่งแวดล้อมเช่นในดิน น้ำ เป็นต้น และทำให้เกิดโรคในคนได้ โดยเฉพาะผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ คาดว่าเป็นผลจากสภาวะโลกร้อนที่เอื้อต่อการแพร่กระจายของแบคทีเรียกลุ่มดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันพบว่า ผู้ติดเชื้อ NTM มักดื้อยารักษาวัณโรค ซึ่งหากมีการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อคัดแยกผู้ติดเชื้อ NTM ออกจากผู้ป่วยวัณโรค จะทำให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้คณะวิจัยจากกรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงจัดการประชุมความร่วมมือทางวิชาการด้านการวิจัยภายใต้โครงการ Nontuberculous mycobacterial (NTM) infections associated with climate change and major weather events: enhancing surveillance and mitigation strategies เมื่อวันที่ 10-12 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา ภายใต้การสนับสนุนของ The e-ASIA Joint Research Program และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคนและทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษาการวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การทำงานและการวิจัยในประเด็นโรคติดเชื้อ NTM รวมทั้งร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์การติดเชื้อ NTM ในประเทศไทย เพื่อเตรียมการรับมือภาระโรคในอนาคตด้วย
ขณะที่เครือข่ายวิจัยมีข้อสรุปแนวทางความร่วมมือ 3 ด้าน คือ 1.ด้านระบาดวิทยาโรคติดเชื้อ NTM โดยการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างเครือข่ายวิจัยในด้านเทคนิคในการรวบรวมข้อมูลเชิงระบาด เพื่อพัฒนาแนวทางการคาดการณ์ความชุกและอุบัติการณ์ของโรคโดยการใช้รหัส ICD-10 ให้มีความครอบคลุมและแม่นยำยิ่งขึ้น 2.ด้านมาตรฐานข้อมูล โดยสร้างมาตรฐานการจัดเก็บข้อมูลร่วมกันระหว่างเครือข่ายวิจัย เพื่อสร้างฐานข้อมูลโรคที่จะเป็นประโยชน์ต่อการวิจัยในอนาคต และ 3.ด้านการวิเคราะห์ข้อมูลความสัมพันธ์เชิงพื้นที่ เพื่อหาตัวแปรทางสภาพภูมิอากาศที่เป็นปัจจัยสำคัญต่อการแพร่กระจายของเชื้อ NTM และถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างเครือข่ายวิจัย โดยใช้แบบจำลองเชิงคณิตศาสตร์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิเคราะห์ข้อมูลวิจัย และเป็นพื้นฐานในการศึกษาค้นคว้าปัจจัยด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มจำนวนเชื้อ NTM ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก
“การดำเนินงานของประเทศไทย จะมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างมาตรฐานข้อมูลด้านสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขให้สามารถรองรับได้อย่างเหมาะสม, เพิ่มความละเอียดของการนำเข้าข้อมูลผลตรวจทางห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ให้มีครอบคลุมมากยิ่งขึ้น, วางแผนแนวทางความร่วมมือของเครือข่ายวิจัยในอนาคต เช่น การสนับสนุนให้นักวิจัยรุ่นใหม่ (Early Career Researchers) ได้เปิดโลกทัศน์ทางการวิจัยผ่านการแลกเปลี่ยนนักวิจัยระหว่างประเทศ การถ่ายทอดองค์ความรู้ (knowledge transfer) ระหว่างเครือข่ายวิจัย และผลักดันทางด้านสาธารณสุขให้ตระหนักถึงความสำคัญของโรคติดเชื้อ NTM ซึ่งจะเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญของโลกในอนาคต” ดร.นพ.สุรัคเมธกล่าว